มุมมองจากนานาชาติ ถึงแนวคิดด้านวิถีสุขภาวะทางปัญญา โดยคุณฮันส์ แวน วิลเลียนส์วาร์ด

ในการประชุมนำเสนอผลการวิจัยและสังเคราะห์โครงการ Food Spirit เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา คุณฮันส์ แวน วิลเลียนส์วาร์ด เสนอมุมมองจากนานาชาติ ถึงแนวคิดด้านวิถีสุขภาวะทางปัญญาว่าเป็นเรื่องความสำคัญมากสำหรับการพัฒนาด้านสุขภาวะในทุกมิติ แม้แต่องค์การอนามัยโลก(WHO)เอง ก็ยังให้ความสำคัญต่อวิถีสุขภาวะทางปัญญาค่อนข้างน้อยกว่าคุณค่าจริง แต่เมื่อเร็วๆ นี้กลับค่อยเริ่มหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้วหากเทียบกับประเด็นด้านสุขภาพทั้ง 4 มิติ ได้แก่ สุขภาวะทางกาย สุขภาพจิต สุขภาพทางสังคม และสุขภาพทางจิตวิญญาณนั้น มิติทางจิตวิญญาณเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เป็นพลังขับเคลื่อนร่างกายของเราจากข้างใน เป็นเข็มทิศจากภายใน ทำให้เรามุ่งหน้าไปยังเป้าหมายได้โดยไม่หลงทิศ วิถีสุขภาวะทางปัญญาคือความสามารถที่จะเชื่อมโยงความเป็นจริงในทางรูปธรรมกับนามธรรมเข้าด้วยกัน เชื่อมร้อยในทุกระดับตั้งแต่ระดับจุลภาค ระดับกลาง ไปจนถึงระดับมหภาคเช่น การที่เห็นตั้งแต่ข้าวในจานที่เด็กกำลังกินไปจนเห็นถึงระบบใหญ่ คือแหล่งที่มาของอาหารจานนั้นๆ

โลกที่เราอยู่นี้กำลังมุ่งหน้าไปสู่ภาวะที่มีความซับซ้อนลึกซึ้งขึ้นไปเรื่อยๆ และเมื่อต้องรับมือกับความซับซ้อนรวมถึงความขัดแย้งทางความคิดต่างๆ วิถีสุขภาวะทางปัญญาจะช่วยให้เราสามารถมีสติควบคุมตนเอง (self-control) และมีเป้าหมายที่แน่ชัด การที่จะรับมือกับความซับซ้อนเหล่านั้น คุณฮันส์เสนอการใช้องค์ประกอบหลัก 3 อย่างจากทฤษฎีตัวยูคือ เปิดความคิด(open head) เปิดใจ(open heart) และเปิดเจตจำนง(open will) เช่นการลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สัมฤทธิ์ผลขึ้นมา อาจเป็นสิ่งเล็กๆ ก็ได้เช่นการสอนเด็กคนหนึ่งให้ปลูกต้นไม้สักต้นและดูแลมันให้เติบโต ก็จำเป็นต้องใช้ความคิดและจิตใจที่ใส่ใจดูแลรักษา และเจตจำนงที่จะมุ่งมั่นให้ต้นไม้นั้นเติบโต เป็นต้น

ในแนวคิดของเกษตรเพอร์มาคัลเจอร์ (permaculture) หรือการออกแบบเพื่อสร้างวิถีเกษตรแบบยั่งยืนนั้น อาหารเป็นส่วนประกอบสำคัญในฐานะของตัวกลางที่จะเชื่อมร้อยผู้คนกับธรรมชาติ โดยผู้คนจะเติบโตและมีมุมมองการใช้ชีวิตที่พัฒนาขึ้น 3 ช่วง ช่วงแรก เริ่มจาก EGO คือมองว่ามนุษย์อยู่เหนือกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ช่วงที่สอง ECO คือเริ่มใช้ชีวิตโดยมองตัวเราเองเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหาร จากนั้นจึงก้าวเข้าสู่ช่วง SEVA คือเป็นผู้รับใช้ “ผู้อุทิศตน” ที่มองว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มีหน้าที่ดูแลรักษาและมีเจตจำนงในการปกป้องดูแลฟื้นฟูธรรมชาติ โดยเราสามารถใช้อาหารเป็นสื่อได้ ดังคำที่ว่า “Food makes care visible.” หมายถึงอาหารทำให้เราใส่ใจกันและกันอย่างเป็นรูปธรรมขึ้น

วิกฤตการด้านสิ่งแวดล้อมโลกของเราในปัจจุบันนี้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างที่จะติดลบ หรืออย่างดีก็แค่เสมอตัว คือมนุษย์ใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองและสร้างมลพิษอย่างต่อเนื่อง การจะก้าวขึ้นไปถึงระดับที่จะสามารถฟื้นฟูระบบนิเวศได้นั้น เราจำเป็นที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกัน สร้างการออกแบบทางสังคมที่จะช่วยกันฟื้นฟูโลกของเราขึ้นมา โดยให้ความรู้ สร้างความเข้าใจและร่วมห่วงใย และชักชวนคนรุ่นใหม่ให้มาร่วมอุทิศตน เพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนทางสังคมที่หนักแน่นเข้มข้น จนมีศักยภาพที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังให้เกิดขึ้น

โดยนำวิธีคิด 3 ข้อของทฤษฎีตัวยู คือเปิดเจตจำนง เปิดความคิด และเปิดใจให้กัน เพื่อสื่อสารเข้าไปให้ลึกซึ้งถึงจิตใจของอีกฝ่ายอย่างแท้จริง เข้าไปถึงส่วนที่ลึกที่สุดของก้อนภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ลึกลงไปใต้ทะเล โดยเริ่มจากพฤติกรรมภายนอก ผ่านเข้าไปสู่รูปแบบพฤติกรรมภายใน เข้าไปจนเข้าถึงรากลึกของโครงสร้างจิตใจ โดยกระบวนทัศน์ที่จะนำมาวัดค่าเพื่อประเมินข้อมูลพลังขับเคลื่อนทางจิตวิญญาณเหล่านี้ ควรเป็นการวัดจากสิ่งซึ่งจับต้องพิสูจน์ได้ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างการวัดค่าเชิงรูปธรรมที่ลดทอนแยกส่วน กับการวัดค่าเชิงนามธรรมที่จดบันทึกเป็นข้อมูลได้ยาก ตัวอย่างของสิ่งที่อยู่กึ่งกลางนั้นได้แก่ วิทยาศาสตร์องค์รวม วิถีสุขภาวะทางปัญญาในฐานะความสามารถเชื่อมโยงบูรณาการ การคิดวิเคราะห์ในมิติที่ลึกซึ้งกว่ากรอบคิดเดิมๆ เป็นต้น จากนั้นจึงประเมินผลออกมาอย่างเปิดกว้างและสร้างสรรค์ เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้ไปร่วมกันสร้างต้นแบบเพื่อพัฒนาต่อยอดความเป็นไปได้ของวิถีสุขภาวะทางปัญญาที่เป็นสากลและเป็นประโยชน์มากยิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต