1.2 โครงการ การออกแบบเมืองประสานความร่วมมือ สรรค์สร้างชุมชนเมือง เพื่อสุขภาวะและความยั่งยืน

DxCC – Design for Collaborative Cities : Cultivating communities in sustainable city making

ที่มาและความสำคัญของนวัตกรรมสังคม

นวัตกรรมสังคม(Social Innovation ) เป็นแนวความคิดและการดำเนินการที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการทางสังคม รวมทั้งเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตและคุณภาพสิ่งแวดล้อม   ในปัจจุบันหลายภาคส่วนต่างตระหนักถึงความสำคัญของ นวัตกรรมเพื่อสังคม  ตั้งแต่ภาคสังคม ภาคธุรกิจและภาครัฐ  อาทิ องค์กรผู้บริโภค องค์กรชุมชนท้องถิ่น องค์กรที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ กลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมไปถึงมหาวิทยาลัย  กลุ่มองค์กรที่กล่าวมาข้างต้นนี้พัฒนานวัตกรรมขึ้นตามความต้องการของชุมชน  โดยเห็นคุณค่าและความสำคัญของการนำสิ่งใหม่ๆ มาใช้ในการแก้ไขปัญหาทางสังคม ปัญหาทางสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านระบบการศึกษา วิกฤตพลังงาน ฯลฯ    ในกระบวนการนวัตกรรม(Innovation Process) จะมีการพัฒนาความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ แบบไม่รู้จบ  และที่สำคัญคือเน้นการเรียนรู้จากกันและกัน

การออกแบบนวัตกรรมสังคม(Design for Social Innovation) เป็นการนำวิธีการออกแบบของนักออกแบบอาชีพมาปรับใช้ในปริมณฑลหรือพื้นที่ต่างๆ ของชีวิตสังคมนอกเหนือจากการออกแบบวัตถุสิ่งของ อาคารสถานที่ในแบบดั้งเดิม  การออกแบบนี้ยังได้ขยายปริมณฑลออกไปในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ(system approach) มีกระบวนการร่วมออกแบบสังคมเพื่อชีวิตที่ดีระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมวางแผนและร่วมลงมือให้บังเกิดขึ้นจริง  โดยมี องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ 1)พื้นฐานมาจากปัญหา(problem analysis)  2)มีวิธีการคิดวิเคราะห์และพัฒนากรอบคิดใหม่ๆ (re-framing) 3)เกิดการสร้างตัวแบบ(prototype)เพื่อตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาที่เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตและสังคมที่ดีการออกแบบเมืองประสานความร่วมมือ(DxCC-Design for Cities Making) เป็นกิจกรรมภายใต้ DESIS Network : Design for Social Innovation and Sustainability  หรือ เครือข่ายการออกแบบเพื่อนวัตกรรมสังคมและความยั่งยืน  อันเป็นเครือข่ายสากลด้านการออกแบบนวัตกรรมสังคมและความยั่งยืน ที่รวมตัวในรูปสมาคมที่ไม่หวังผลกำไร ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออกแบบนวัตกรรมสังคมในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ผลิตวิชาการความรู้ด้านการออกแบบที่เอื้อประโยชน์ต่อสังคม และสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมีความหมายด้วยการออกแบบการประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ

บริษัทอินี่เครือข่ายนวัตกรรมสากล(INIInnovation Network International)ผู้ประกอบการสังคม ที่เชื่อมโยงกลุ่มคนและองค์กรต่างๆ จะร่วมภารกิจเดียวกันนี้เพื่อพัฒนานักออกแบบนวัตกรรมสังคมขึ้นในสังคมไทยและเชื่อมโยงกับผู้คน องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในภูมิภาคเอเชียและในระดับนานาชาติ  

เป้าหมาย

  1. เพื่อพัฒนาสู่วัฒนธรรมอย่างใหม่ที่คำนึงถึงความสร้างสรรค์(creativity) นวัตกรรม(innovation) และการการมีส่วนร่วม(participation)ของชุมชนสังคม ที่มีความตื่นตัวในการร่วมแก้ไขปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว
  2. เพื่อเผยแพร่นวัตกรรม ความคิดในแนวทางการออกแบบและความสร้างสรรค์ที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ เป็นนวัตกรรมเพื่อสังคม นวัตกรรมเพื่อทุกคน(Innovation for All)
  3. เพื่อนำมาสู่ความร่วมมือและการเชื่อมโยงเครือข่ายของผู้คน องค์กรทั้งจากภาคสังคม ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ผ่านพื้นที่(platform)ที่ให้ความสำคัญกับความคิดและการลงมือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงชุมชนสังคมโดยรวมให้มีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเผยแพร่แนวคิดด้านการออกแบบนวัตกรรมสังคม(social innovation) ด้วยหนังสือที่ช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจแนวคิดและแนวทางที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมวงกว้าง
  2. เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการออกแบบเมืองประสานความร่วมมือ(DxCC-Design for City Making) แก่ผู้ทำงานด้านการพัฒนาขับเคลื่อนสังคมทั้งจากองค์กรภาคสังคม ภาครัฐ ภาคธุรกิจให้ได้รับรู้แนวทางดังกล่าวนี้และนำมาปรับใช้กับการดำเนินงาน
  3. เพื่อพัฒนากลุ่มคน องค์กรด้านนวัตกรรมสังคมให้เกิดการร่วมตัวในรูปเครือข่ายอันจะช่วยเกื้อหนุนการดำเนินงานด้านนี้ในระยะยาว และตระหนักถึงพลังของพลเมือง พลังการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสู่คุณภาพชีวิต คุณภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชนและสังคม

กิจกรรมโครงการ ประกอบด้วย 4 กิจกรรม ดังนี้

กิจกรรมที่ 1 การจัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือ  “การเมืองแห่งชีวิตประจำวัน : สร้างพลังความร่วมมือ” (Politics of the Everyday) เขียนโดยศ.ดร.เอซิโอ มานซินี่ เพื่อการสื่อสารสังคมและช่วยสร้างความคุ้นเคยต่อแนวคิดดังกล่าวสู่สาธารณชน  โดยแนวคิดนี้แม้จะมีการแนะนำอยู่บ้างแล้วในกลุ่มหรือองค์กรต่างๆ หากยังจำกัดอยู่ในแวดวงแคบไม่กว้างขวางออกไป  การจัดพิมพ์หนังสือสู่ช่องทางการจัดจำหน่ายจะช่วยให้เกิดการเข้าถึงทั้งในหมู่ผู้อ่านและผู้สนใจกลุ่มเฉพาะ ได้แก่ นักพัฒนาสังคมทั้งจากภาครัฐและเอกชน นักการศึกษาเพื่อใช้ในกระบวนการร่วมออกแบบการเรียนรู้ กลุ่มกระบวนกร หนังสือยังช่วยให้มีเนื้อหาความรู้ไว้ศึกษาเพื่อพัฒนางานด้านการออกแบบเมืองประสานความร่วมมือ

            หนังสือ “การเมืองแห่งชีวิตประจำวัน : สร้างพลังความร่วมมือ” (Politics of the Everyday) จัดพิมพ์จำนวน 3,000 เล่ม เพื่อกระจายในช่องทางการจัดจำหน่ายหนังสือทั่วไปและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ  

องค์ประกอบหนังสือ แบ่งเป็น 4 บท ได้แก่

1.ชุมชนอันโปร่งเบา :รูปแบบสังคมในโลกอันไหลเลื่อน

ความไหลเลื่อน

ความเปิดกว้าง

ความโปร่งเบา

2.โครงการชีวิต :ความเป็นอิสระและความร่วมมือ

การสร้างโครงการชีวิต

การออกสำรวจ

การประสานความร่วมมือ

3.การเมืองแห่งชีวิตประจำวัน :การขับเคลื่อนสังคมด้วยการออกแบบ                                                  และความเป็นปกติที่มีนัยต่อการเปลี่ยนแปลง

การลงมือกระทำ

การละเมิดแข็งขืน

การเปลี่ยนแปลง

4.ประชาธิปไตยแบบมีศูนย์กลางที่โครงการ :ระบบนิเวศของความคิดและโครงการชีวิต

การสร้างสมบัติส่วนรวม

การทดลอง

การมีส่วนร่วม

การทำให้เกิดขึ้นจริง

เกี่ยวกับผู้เขียน ศาสตราจารย์ ดร.เอซิโอ มานซินี่

(Prof.Dr.Ezio Manzini)

ศ.ดร.เอซิโอ มานซินี่ ได้ชื่อว่าเป็นนักบุกเบิกด้านกระบวนการร่วมออกแบบคนสำคัญคนหนึ่งของโลก เดิมท่านเป็นศาสตราจารย์ด้านการออกแบบอุตสาหกรรมที่ Milan Polytechnic หากภายหลังท่านได้เปลี่ยนแนวทางมาสู่บทบาทด้านการออกแบบเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม  ท่านได้มีโอกาสกล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับแนวคิดด้านชุมชนสร้างสรรค์(Creative Communities)และคุณลักษณะที่พวกเราทุกคนสามารถ

ร่วมสร้างสรรค์ชุมชนที่ยั่งยืนได้  อาจกล่าวได้ว่าท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำที่สุดของโลกด้านการออกแบบเพื่อความยั่งยืน  ท่านยังนำกระบวนการสร้างภาพจำลองสังคม(Scenario Building)มาแก้ไขปัญหาและการแสวงคำตอบต่อสภาพแวดล้อมและสังคมคุณภาพร่วมกัน  ศ.ดร.เอซิโอ มานซินี่ยังเป็นผู้จุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาและคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย และสรรค์สร้างนวัตกรรมทางสังคมจำนวนหลากหลายโครงการที่เป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาของเมืองทั้งในฐานะนักออกแบบและในฐานะผู้ประกอบการสังคม  และยังรวมถึงคนหนุ่มสาวในที่ต่างๆ อาทิ กลุ่มคนรุ่นใหม่ในประเทศเกาหลี ประเทศจีน นักออกแบบและสถาปนิกชุมชนทั่วทุกมุมโลก นักจัดการศึกษาทั้งในและนอกประเทศอิตาลี ที่ใส่ใจต่อกระบวนการเรียนรู้ของทั้งเด็ก เยาวชน คนหนุ่มสาว หรือแม้แต่ผู้สูงอายุที่มีการจัดกลุ่มสนับสนุน(group support)และดูแลซึ่งกันและกัน เป็นต้น เกิดกระบวนการร่วมออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมในรูปแบบต่างๆ ของหลายกลุ่ม และนำมาสู่การร่วมมือกันของภาคส่วนต่างๆ

กิจกรรมที่ 2 การบรรยายสาธารณะเรื่อง โดยจะจัดให้มีการบรรยายและวงอภิปราย ดังนี้

  1. สรรค์สร้างชุมชนเพื่อเปลี่ยนวิกฤตสิ่งแวดล้อม”(Design for urban regeneration and climate emergency : Cultivating communities as agent of change) ในหัวข้อดังกล่าวนี้จะมีศ.ดร.เอซิโอ มานซินี่เป็นปาฐกถ ในวันพุธที่ 11 ธันวาคม 2562 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. วงอภิปราย “การออกแบบเมืองประสานความร่วมมือ : สรรค์สร้างชุมชนเมืองเพื่อความยั่งยืนและสุขภาวะ” เป็นวงอภิปรายจากวิทยากรท่านต่างๆ ในวันพุธที่ 11 ธันวาคม 2562 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  3. วงสนทนา   The Power of Collaboration : Choice and Action Change the world

– มุมมองจากหนังสือ, อนุสรณ์ ติปยานนท์( ผู้แปล)

– พลังคนรุนใหม่สร้างเมือง, ม.ล.จิรทิพย์ เทวกุล นักวิจัย/สถาปนิกศูนย์บริการวิจัยและออกแบบ

– นวัตกรรมสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลง, ราชิต ระเด่นอาหมัด มลายูลิฟวิ่ง

– การประสานความร่วมมือในการจัดการขยะ, ทีมโรงเรียนทอสี

กิจกรรมที่ 3 วงแลกเปลี่ยนเชิงปฏิบัติการ “การออกแบบเมืองประสานความร่วมมือ”(Design for Collaborative Cities) จะช่วยให้มีการศึกษากระบวนระบบจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมสังคมและการร่วมออกแบบคนสำคัญคนหนึ่งของโลกที่ได้จุดประกายให้เกิดการริเริ่มต่างๆ จำนวนมาก โดยนำกรณีศึกษาของไทยมาดำเนินการประกอบในวงแลกเปลี่ยนเชิงปฏิบัติ กรณีศึกษา 3 กรณี ได้แก่

  1. โครงการสวนผักคนเมืองและการแบ่งปัน กรุงเทพมหานครและภูมิภาค
  2. โครงการชุมชนคลองบางหลวงพื้นที่พักผ่อนและท่องเที่ยวชุมชน กรุงเทพมหานคร
  3. กระบวนการออกแบบระบบอาหารภาคใต้  ดร.เพ็ญ สุขมาก สถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  4. พัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่เอื้อต่อกิจกรรมทางกายสำหรับผู้สูงอายุ กิตติ์ บุญยืน อาศรมศิลป์
  5. เครื่องมือการออกแบบกับการพัฒนาระบบอาหารสุขภาวะ กรณีศึกษาจากประเทศจีน       

เพื่อศึกษากระบวนการร่วมออกแบบในทางรูปธรรม โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งจากภาคประชาสังคม ภาครัฐ ภาคธุรกิจ จำนวน 100 คน  ในวันที่ 11 ธันวาคม 2562

กิจกรรมที่ 4 การประชุมพัฒนาเครือข่ายการออกแบบนวัตกรรมสังคมและความยั่งยืน DESIS Lab Network ซึ่งเป็นเครือข่ายนานาประเทศที่มีความน่าสนใจ กลุ่มและองค์กรในประเทศไทยจึงมีความสนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเพื่อมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และรูปแบบการดำเนินงานด้านการออกแบบนวัตกรรมสังคม โดยจะจัดประชุมปรึกษาหารือเฉพาะบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องเท่านั้นในวันที่ 12 ธันวาคม 2562 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

องค์กรผู้รับผิดชอบ บริษัทอินี่เครือข่ายนวัตกรรมสากล(INI-Innovation Network International) และสนพ.อินี่บุ๊คส์   60/34/1 ซ.ติวานนท์ 34 หมู่ 9 ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000  โทร.02-589-9771

องค์กรภาคี ความร่วมมือของเราขยายไปสู่ผู้คน กลุ่มคน องค์กรต่างๆ ดังนี้

  • มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
  • บริษัทสวนเงินมีมาผู้ประกอบการสังคม
  • School for Wellbeing Studies and Research
  • ศูนย์ภูฐานศึกษา ประเทศภูฐาน
  • เครือข่ายเกษตรอินทรีย์เอเชีย-TOA
  • เวทีตลาดที่มีจิตสำนึกเอเชียและหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม
  • Change Fusion
  • เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม(SVN Thailand)
  • เครือข่ายตลาดสีเขียว
  • สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.)
  • มูลนิธิสยามกัมมาจล
  • สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(สนช.)
  • สถาบันเอเชียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
  • อาศรมศิลป์ เป็นต้น