Food Spirit Learning Modules Workshop 20-22 มิ.ย. 2568

🌿 ประมวลภาพความประทับใจจาก Food Spirit Learning Modules Workshop ระหว่าง 20-22 มิ.ย. 2568 ณ อาศรมวงศ์สนิท จ.นครนายก สามวันที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้ “ชีวิต” ผ่านอาหารอย่างลึกซึ้ง

🌾 Journey of Life through food – สายธารชีวิตผ่านอาหาร

เราถูกชวนให้ทบทวนความทรงจำและประสบการณ์ของตัวเองผ่านอาหาร — ทั้งในมิติ ความรู้สึก สุขภาพ ความสัมพันธ์ และเศรษฐกิจ อาหารไม่ใช่แค่สิ่งที่กิน แต่คือเรื่องราวของชีวิตแต่ละคนที่ไหลร้อยต่อกันเป็นสายธารของชุมชน

🍃 “Life Force & Inner Food Walk – พลังชีวิต อาหารพาเดินสู่โลกภายใน”

การมาของนคร ลิมปคุปตถาวร หรือปริ๊นซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรพลวัต ได้เปิดประตูสู่การเข้าใจ ดิน น้ำ ลม ไฟ แสงแดด อากาศ และการเจริญเติบโตของพืชผัก ไม่ใช่แค่ปลูก แต่อยู่ร่วมและสัมผัสกับทั้ง ระบบนิเวศ อย่างมีสติ กลิ่น รส การเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างล้วนเป็นบทเรียนของชีวิต

🍽️ Mindful Eating – กินอย่างรู้ตัว

การกินกลายเป็นการฝึกใจ ไม่ใช่เพียงลิ้มรส แต่คือการรับรู้ถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนและอ่อนโยนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

🤝 Food Distancing – ความห่างเหินในระบบอาหาร

อาจารย์ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย ชวนเราทบทวน food distancing — เมื่ออาหารอยู่ไกลจากมือผู้ผลิตและหัวใจของชุมชน เราเริ่มลืมว่าเรากิน “ใคร” และ “อะไร” เข้าไป

🌏 การเปลี่ยนผ่านระบบอาหาร

ทฤษฎีตัว U ของ Otto Scharmer ที่ฮันส์ แวนวิลเลียนส์วาร์ด บอกเล่า พาเราผ่านการ เปิดหัวใจ เปิดใจ และเปิดเจตจำนงร่วม เพื่อมองระบบอาหารจากต้นธารสู่ปลายน้ำ พร้อมแบบฝึกหัด 3 ชุด — พื้นที่ เวลา เป้าหมาย — เพื่อเชื้อเชิญอนาคตที่อยากเห็น

👩‍🍳 Cooking Group – ครัวคือพื้นที่เรียนรู้

ภายใต้การชวนคิด ชวนทำของ “ป้าหน่อย” พอทิพย์ เพชรโปรี เราได้สำรวจที่มาของวัตถุดิบจากสามแหล่ง — ตลาดสด ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ รวมทั้งแปลงผักอาศรม — ที่สะท้อนระบบอาหารสามแบบในชีวิตประจำวัน การลงมือปรุงอาหารจึงไม่ใช่แค่การทำกับข้าว แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ความเชื่อมโยงระหว่างอาหาร ผู้คน และโลก เมนูที่ออกแบบขึ้นมีโจทย์เฉพาะ เช่น ไม่ใช้ไฟ ใช้ผักพื้นบ้าน และต้องมีเรื่องราวที่ผูกพันกับชีวิต — ทุกจานกลายเป็นงานศิลป์ที่บอกเล่ารากเหง้า ความทรงจำ และอัตลักษณ์ของแต่ละคน

🌱 Life Projects – โครงการชีวิต

การออกแบบ “โครงการชีวิต” ของแต่ละคน — บนพื้นฐานของสิ่งที่ได้เรียนรู้ตลอดสองวัน ทั้งความเข้าใจระบบอาหาร จิตวิญญาณของการกิน และความสัมพันธ์กับธรรมชาติ โดยมีกรณีศึกษาของ คุณจิ๊ก – โครงการปันอยู่ปันกิน และ คุณปุ้ย – โครงการปลูกเพื่อเมือง เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เห็นว่าอาหารสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับชีวิตและสังคม เราร่วมกันกลั่นจากความรู้สึก สิ่งที่เรียนรู้ การเติบโต การฝึกฝน และการเปลี่ยนแปลง เพื่อกลับมารู้จักตัวเอง เชื่อมโยงกับผู้อื่น และมองเห็นโลกอย่างใหม่อีกครั้ง

เรากลับออกมาจากอาศรมวงศ์สนิท พร้อมดวงตาใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป — เพราะอาหารทำให้เรา เข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจโลก 🌎